วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

ดอกไม้ในวรรณคดีไทย




   ดอกไม้ในวรรณคดี
ดอกไม้ในวรรณคดีไทย หมายถึงดอกไม้ที่บรรดากวีไทยท่านได้พรรณาไว้เป็นบทร้อยกรองอย่างไพเราะในหนังสือวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์  อิเหนา เงาะป่า ดาหลัง ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี บทเห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศทองแดง นิราสหริภุญชัย นิราศพระประธม นิราศสุพรรณ นิราศเมืองแกลง นิราศภูเขาทอง นิราศอิเหนา นิราศเจ้าฟ้าลิลิตพระลอ และลิลิตตะเลงพ่าย
    เป็นความสามารถเฉพาะตัวของกวีไทย ที่ได้พรรณาชื่อดอกไม้หลายชนิดไว้อย่างไพเราะ ทั้งลักษณะ สีสัน กลิ่น ทำให้ผ้อ่านเกิดมโนภาพ ประทับใจ เหมือนได้ไปอยู่ ณ ที่ด้วย  หวังว่าสิ่งที่เรียบเรียงมาคงจะเป็นประโยชน์และเกิดความประทับใจกับการพรรณาของกวีไทยบ้าง

      

ดอกไม้ในวรรณคดี
 ชื่อดอกไม้
 วรรณคดีที่กล่าวถึง
ถิ่นกำเนิด
 กระดังงา รามเกียรติ์ นิราศกลางไทย ฟิลิปปินส์
 กาหลง รามเกียรติ์ อิเหนา บทเห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย นิราศขุนช้างขุนแผน พระอมัยมณี ไทย  พม่า
 แก้ว รามเกียรติ์ อิเหนา ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย ขุนช้างขุนแผน ไทยพม่า
 กุหลาบ รามเกียรติ์ มัทนะพาธา พระอภัยมณี อิเหนา ทวีปเอเชีย  ทวีปอเมริกา
 จำปี รามเกียรติ์ เงาะป่า ลิลิตตะเลงพ่าย ขุนช้างขุนแผน ไทย  มาเลเซีย อินโดนีเซีย
 จำปารามเกียรติ์ อิเหนา เงาะป่า ไทย  จีน  มาเลเซีย อินเดีย 
 ชงโค รามเกียรติ์  อิเหนา  ลิลิตตะเลงพ่าย จีน   อินเดีย
 ช้องนาง รามเกียรติ์ ลิลิตพระลอ ทวีปแอฟริกา
นางแย้มรามเกียรติ์ อิเหนา ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่ายไทย พม่า อินโดนีเซีย




 ดอกกรรณิการ์ 



“…กรรณิการ์  ก้านสีแดงสด
คิดผ้าแสดติดขลิบนาง
เห็นเนื้อเรื่อโรงราง
ห่มสองบ่าอ่าโนเน่…”

วรรณคดี :  กาพย์ห่อโคลง  “นิราศธารโศก”
ผู้ประพันธ์ :  เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Nyctanthes arbor – tristis     
ชื่อสามัญ :  Night Jasmine
ชื่อวงศ์  :  Verbenaceae


กรรณิการ์เป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก  สูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร  ใบสากคาย  ขอบใบเป็นจักตื้น ๆ และใบออกทิศทางตรงข้ามกัน
ดอกสีขาว  ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง  ลักษณะคล้ายดอกมะลิ  แต่มีขนาดกลีบแคบกว่า  ปลายกลีบมี ๒ แฉก  ขนาดไม่เท่ากัน  โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีส้มสด  ดอกบานส่งกลิ่นหอมในเวลากลางคืน  และจะร่วงในเช้าวันรุ่งขึ้น
ผลมีลักษณะกลมแบน  ขณะอ่อนมีสีเขียว  เมื่อแก่เป็นสีดำ
การขยายพันธุ์  ใช้ตอนกิ่ง
ทางด้านสมุนไพร  เปลือกให้น้ำฝาด  เปลือกชั้นในเมื่อผสมกับปูนขาวจะให้สีแดง  ดอกมีน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้  เช่นเดียวกับมะลิ  ส่วนของดอกที่เป็นหลอด  สกัดเป็นสีย้อมผ้าไหม  ใบใช้แก้ไข้และโรคปวดตามข้อ  น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาระบาย  และเป็นยาขมเจริญอาหาร


 บุนนาค 


“….พิกุลบุนนาคมากมี
ตามทางหว่างวิถีสีขาวสด
ชมพลางทางเร่งรีบรถ
เลียบตามบรรพตคีรี…”
วรรณคดี : “อิเหนา”  ตอนท้าวปันจะรากันไปในพิธีอภิเษกสังคามาระตา
ผู้ประพันธ์ :  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Mesua  ferrea, L.
ชื่อสามัญ          :  Indian  Rose  Dhestnut, Iron  Weed
ชื่อวงศ์             :  Guttiferae
ชื่ออื่น ๆ            :  นาคบุตร

บุนนาคเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่  ทรงพุ่มยอดแหลม  ออกดอกในฤดูหนาว  ใบเป็นใบเดี่ยว  ออกสลับทิศทางกัน  มีลักษณะเป็นกระจุกใหญ่ตรงกลาง  บางต้นกลีบดอกออกสีชมพูเรื่อ ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่มีขนาด ๕ - ๗.๕ เซนติเมตร  หลังจากดอกโรยจะติดเมล็ด
การขยายพันธุ์  นิยมใช้วิธีตอนกิ่ง  หรือเพาะเมล็ด
คุณค่าทางสมุนไพร  ใช้เกสรผสมยาหอมบำรุงหัวใจ  แก้ร้อนในกระหายน้ำ  แก้วิงเวียนเป็นยาชู้กำลัง ฯลฯ


ผกากรอง

“…มะลิวัลย์พันระกำขึ้นแกมจาก
ได้สามวันกรรมพรากไปจากห้อง
จำปีเคียงโศกระย้า  ผกากรอง
พี่โศกเศร้าเฝ้าตรองกว่าสองปี…”
วรรณคดี :  “ขุนช้างขุนแผน”
ผู้ประพันธ์ :  สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Lantana  camara, L.
ชื่อสามัญ          :  Cloth  of Gold,  Hedge  Flower,  Weeding  Lantana
ชื่อวงศ์             :  Verbenaceae
ชื่ออื่น ๆ            :  ก้ามกุ้ง  เบญจมาศป่า  ขะจาย  ขี้กา  คำขี้ไก่  เบ็งละมาศ  ไม้จีน

ผกากรองเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ ๒ - ๖ ฟุต  ขึ้นได้ในดินทุกชนิด  ชอบแล้งมากกว่าแฉะ  ชอบแสงแดดจัด  นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อดูดอกเพราะผกากรองให้ดอกสวยและดกตลอดปี ใบเป็นรูปไข่  ริมใบหยักเป็นจัก  ใบคายสากมือ  มีกลิ่นเหม็น      ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นกระจุก  ขนาดโตประมาณ ๑ - ๑.๕ นิ้ว  มีหลายสี  เช่น  เหลืองอ่อน  แดง  ขาว  ม่วง  ชมพู  เหลืองเข้ม
การขยายพันธุ์  ใช้วิธีเพาะเมล็ด  หรือตัดกิ่งปักชำ
สรรพคุณทางสมุนไพร  ใบตำพอกแผล  ฝีพุพอง  ใบต้มน้ำอุ่นอาบ  หรือแช่แก้โรคปวดข้อ


 พิกุล
“…เสือมองย่องแอบต้นตาเสือ
ร่มหูกวางกวางเฝือฝูงกวางป่า
อ้อยช้างช้างน้าวเป็นราวมา
สาลิกาจับกิ่งพิกุลกิน…”
วรรณคดี : “ขุนช้างขุนแผน”
ผู้ประพันธ์ :  สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Mimusope  elengi, L.
ชื่อสามัญ          :  Bullet  Wood
ชื่อวงศ์             :  Sapotaceae

พิกุลเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง  กิ่งก้านค่อนข้างแจ้  แบน  คล้ายต้นหว้า  มีพุ่มใบแน่น  เหมาะสำหรับปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย  ดอกมีกลิ่นหอม   ใบเป็นใบเดี่ยว  สีเขียวเข้ม  ปลายแหลมมน  มีขนาดใบกว้างประมาณ ๗ ซ.ม. ยาวประมาณ ๑๕ ซ.ม. เส้นกลางใบด้านท้องใบนูน  ก้านใบยาวประมาณ ๓ ซ.ม.    ดอกออกเป็นช่อ  เป็นกระจุก  ดอกมีขนาดเล็กกว้างประมาณ ๑ ซ.ม.  กลีบดอกเล็กแคบยาวเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มองดูริมดอกเป็นจักเล็ก    ผลกลมโตคล้ายละมุดสีดา  แต่เล็กกว่าเล็กน้อย  ผลสุกสีแดงแสด  ใช้รับประทานได้  รสฝาดหวานมัน
การขยายพันธ์  ใช้เพาะเมล็ด หรือ ตอนกิ่ง
ทางด้านสมุนไพร  เปลือกใช้ต้มเอาน้ำอมเป็นยากลั้วล้างปาก  แก้ปากเปื่อย  ปวดฟัน  ฟันโยกคลอน  เหงือกบวม  เป็นยาคุมธาตุ  ดอกแห้งใช้ป่นทำยานัตถุ์  แก้ไข้  ปวดศรีษะ  เจ็บคอ  แก้ปวดตามร่างกาย  แก้ร้อนใน  เมล็ดตำละเอียดปั้นเป็นยาเม็ดสวนทวาร

สุพรรณิการ์ 
“…เล็บนางงามแสล้ม
ต้นนางแย้มแกมดองดึง
สุพรรณิกากากระทึง
ดอกราชพฤกษ์ซึกไทรไตร…”
วรรณคดี : กาพย์ห่อโคลง “ นิราศธารทองแดง”
ผู้ประพันธ์ : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์  “เจ้าฟ้ากุ้ง”
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Cochlospermum  religiosum
ชื่อสามัญ          :  Yellow  Slik-Cotton  Tree,  Butter-Cup  Tree
ชื่อวงศ์             :  Bixaceae

สุพรรณิการ์มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า  “ฝ้ายคำ”  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ ๓ -๗ เมตร  ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด  ชอบแสงแดดจัด  ออกดอกหลังจากใบร่วงหมดในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน
ใบมีลักษณะมน  ขอบเว้าเป็น ๕ แฉก  กว้างประมาณ ๖ นิ้ว  ยาวประมาณ ๘ นิ้ว  ท้องใบมีขนอ่อน
ดอกใหญ่มี ๕ กลีบ  สีเหลืองสด  กลีบดอกงุ้มเข้าหากันคล้ายถ้วย  ดอกมีขนาดกว้างประมาณ ๕ นิ้ว  กลางดอกมีเกสรตัวผู้มากมาย  เมื่อดอกโรยจะติดผล
ผลมีลักษณะกลมรี  ภายในผลมีเมล็ดมีปุยคล้ายปุยฝ้าย
การขยายพันธุ์  ใช้วิธีเพาะเมล็ด

การเวก
“…สามกษัตริย์เที่ยวชมบุปผชาติ     ดอกดกเดียรดาษในสวนขวัญ
เกดแก้วพิกุลแกมพิกัน                     จวงจันทร์ลำดวนกระดังงา…”
วรรณคดี :  “รามเกียรติ์”
ผู้ประพันธ์ :  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Artabotrys  siamensis
ชื่อสามัญ          :  Artabotrys
ชื่อวงศ์             :  Annonaceae
ชื่ออื่น ๆ              :  กระดังงาเถา  กระดังงัว

การเวกเป็นไม้เถาขนาดกลางถึงใหญ่  เนื้อไม้แข็ง  มักพบตามป่าชื้นทั่ว ๆ ไปนิยมปลูกให้เลื้อยเป็นไม้ซุ้มตามเรือนต้นไม้  หรือซุ้มประตู  ใบร่มทึบ  อายุยืนมาก  ออกดอกตลอดปี  ขึ้นได้ดีในทุกที่ทุกแห่งที่มีความชื้นพอสมควร  ชอบอยู่กลางแจ้ง  ลำต้นอาจมีขนาดโคนต้นใหญ่ ๘ - ๑๒ นิ้ว    ลำต้นมีผิวเปลือกค่อนข้างเรียบ  สีเทาอมดำหรือน้ำตาล  มีกลิ่นเหม็นเขียวเพราะมีต้นน้ำมันกระจายอยู่    ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวจัด  เป็นมัน  รูปมนรี  ปลายแหลม  ยาวประมาณ ๖ - ๗ นิ้ว  แต่กว้างกว่ากระดังงา     ดอกอ่อนเป็นสีเขียว  เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นขาว  เหลืองอ่อน  จนแก่จัดมีสีเหลืองเข้ม  มีกลิ่นหอมรุนแรงและส่งกลิ่นไปได้ไกล  ดอกเป็นกลีบเรียวยาวแยกจากกัน ๖ กลีบ  ดอกใหญ่กว่าและกลีบดอกหนากว่ากระดังงา  เมื่อดอกแก่จะร่วงเป็นผล   ผลมีลักษณะกลมรี  เป็นพวง  สีเขียว  และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม  เมื่อผลแก่จัดภายในผลแก่มีเมล็ดสีดำเป็นเมือก ๆ
การขยายพันธุ์  นิยมใช้กิ่งตอน  เพราะโตเร็วกว่าการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

กระพ้อ
“…กระพ้อเงาะระงับกระจับบก
กระทกรกกระลำพอสมอไข่
ผักหวานตาลดำลำใย
มะเฟืองไฟไข่เน่าสะเดานา…”
วรรณคดี :  “ขุนช้างขุนแผน” ตอนขุนแผนลุแก่โทษ
ผู้ประพันธ์ :  สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Passiflora foetida, L.
ชื่อสามัญ          :  Stinking – Passion Flower
ชื่อวงศ์             :  Passifloraceae
ชื่ออื่น ๆ            :  หญ้ารกช้าง  กระโปรงทอง  เถาสิงโต
กระทกรกเป็นไม้ประเภทเถาเลื้อย  เถาเล็กสีเขียว  ใบเป็นใบเดี่ยว  แยกเป็น ๓ แฉกคล้ายใบตำลึง  ยาวประมาณ ๖ - ๗ ซ.ม.  แผ่นใบมีขนละเอียดปกคลุมจับนุ่มมือออกเป็นข้อ ๆ ละใบสลับข้างกัน  ก้านใบมีขนเห็นได้ชัด  หูใบมีลักษณะเป็นแผ่น  ปลายจักแหลม ๆ ขนาบอยู่ที่ฐานก้านใบ  ระหว่างฐานใบกับลำต้นมีมือเกาะลักษณะเป็นเส้นม้วนงอ  สำหรับเกาะให้เลื้อยขึ้นไปตามรั้วหรือต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง   ดอกเป็นดอกเดี่ยว  ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง  ๒ - ๓ เซนติเมตร  มีกาบใบเป็นฝอยร่างแห ๓ กาบ  กลีบเป็นเส้นฝอยละเอียดสีขาว  วงในเป็นสีม่วง  บอกในช่วงเช้าดอกออกตามซอกระหว่างก้านใบกับลำต้น  เมื่อดอกโรยจะติดผล   ผลมีลักษณะกลมเป็นพู  มีกาบใบเจริญเติบโตตามผลหุ้มผลไว้ผลหนึ่ง ๆ มีหลายเมล็ด  ออกดอกตลอดปี  ผลรับประทานเล่นได้

กุหลาบ
“…เที่ยวชมแถวขั้นรุกขชาติ
ดอกเกลื่อนดกกลาดหนักหนา
กาหลงกุหลาบกระดังงา
การะเกดกรรณิการ์ลำดวน…”
วรรณคดี  :  “รามเกียรติ์”
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Rosa damascema, Mill.
ชื่อสามัญ          :  Damask Rose, Persia Rose, Mon Rose
ชื่อวงศ์             :  Rosaceae

กุหลาบมอญเป็นไม้ดอกประเภทไม้พุ่มผลัดใบ  ลำต้นตั้งตรง  กิ่งก้านมีหนาม  พุ่มสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร  อายุยืน  แข็งแรง  เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดอย่างน้อยวันละ ๖ ชั่วโมง  จึงควรปลูกในที่โล่งแจ้งแต่ควรเป็นที่อับลม  ขึ้นได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์พอ  ชอบน้ำ  แต่ไม่ชอบน้ำขัง  ดินจึงต้องระบายน้ำได้ดี  ชอบอากาศร้อนในตอนกลางวัน  และอากาศเย็นในตอนกลางคืน  กุหลาบมอญนี้ถือได้ว่าเป็นกุหลาบพื้นเมืองของไทย  ใบเป็นใบประกอบชนิดขนนก  มีหูใบ ๑ คู่  มีใบย่อย ๓ - ๕ ใบ  ในก้านช่อใบหนึ่ง ๆ ใบจัดเรียงแบบสลับ  ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน  มีรอยย่นเล็กน้อย  ขอบใบเป็นจักละเอียด  เส้นกลางใบด้านท้องใบมีหนามห่าง ๆ   ดอกมีลักษณะค่อนข้างกลม  กลับดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้น  วนออกนอกเป็นรัศมีโดยรอบ  ดอกมีสีชมพูอ่อน  สีชมพูเข้ม  ดอกมักออกเป็นช่อ  ทางปลายกิ่ง  กลีบดอกมีลักษณะปลายแหลมเรียว
การขยายพันธ์ใช้วิธีตอนกิ่ง 

ช้องนาง 
“นาเวศเคลื่อนคล้อยคลา          ล่วงลอยตามชลธาร
ชมไม้ในอุทยาน                            บานเกลื่อนกล่นหล่นเรี่ยราย
ช้องนางนางคลี่ไว้                          คิดทรามวัยเคยสรงสยาย
กลิ่นร่ำน้ำอบอาย                           ไม่วายว่างห่างหอมเอยฯ”

(กาพย์เห่เรือ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia repens Linn.
ชื่อภาษาอังกฤษ Bush Clock Vine

ช้องนางเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอาฟริกา เป็นไม้พุ่มเตี้ย แตกกิ่งก้านหนาแน่นใบมนปลาย ใบแหลม ดอกมีสีม่วงเข้ม รูปกรวยปากแตร มีกลีบ ดอก 5 กลีบ ออกดอกได้ตลอดปี สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งในที่รำไรและกลางแจ้ง
ขยายพันธุ์ได้โดยการตัดชำหรือการตอน




www.youtube.com/watch?v=Ua27NbkSPcc

ดอกไม้ประจําชาติอาเซียน



ดอกไม้ประจําชาติอาเซียน


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 1. บรูไนดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam) : ดอกซิมปอร์

          ดอกไม้ประจำชาติบรูไน ก็คือ ดอกซิมปอร์ (Simpor) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดอกส้านชะวา (Dillenia) ดอกไม้ประจำท้องถิ่นบรูไน ที่มีกลีบขนาดใหญ่สีเหลือง หากบานเต็มที่แล้วกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายร่ม พบเห็นได้ตามแม่น้ำทั่วไปของบรูไน มีสรรพคุณช่วยรักษาบาดแผล หากใครแวะไปเยือนบรูไน จะพบเห็นได้จากธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์ ของประเทศบรูไน และในงานศิลปะพื้นเมืองอีกด้วย


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 2. ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) : ดอกลำดวน

          กัมพูชามีดอกไม้ประจำชาติเป็น ดอกลำดวน (Rumdul) ดอกไม้สีขาวปนเหลืองนวล กลีบดอกหนาทึบและแข็งเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเย็นแบบกรุ่น ๆ ถูกจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเพราะมีความหมายถึงความสดชื่นหอมกรุ่น และเป็นดอกไม้สำหรับสุภาพสตรี วิธีปลูกที่ถูกต้อง ต้องปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวบ้าน ที่สำคัญต้องปลูกในวันพุธด้วยนะ


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) : ดอกกล้วยไม้ราตรี

          ดอกไม้ประจำชาติอินโดนีเซีย คือ ดอกกล้วยไม้ราตรี (Moon Orchid) ซึ่งเป็นหนึ่งในดอกกล้วยไม้ที่บานอยู่ได้นานที่สุด โดยช่อดอกนั้นสามารถแตกกิ่งและอยู่ได้นาน 2-6 เดือน โดยดอกจะบานแค่ปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ดอกกล้วยไม้ราตรีสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้น จึงพบเห็นได้ง่ายในพื้นที่ราบต่ำของประเทศอินโดนีเซีย


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People's Democratic Republic) : ดอกจำปาลาว

          ดอกไม้ประจำชาติประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างประเทศลาว คือ ดอกจำปาลาว (Dok Champa) คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ดอกลีลาวดี หรือ ดอกลั่นทม โดยดอกจำปาลาวมักมีสีสันหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเพียงสีขาวเท่านั้น เช่น สีชมพู สีเหลือง สีแดง หรือสีโทนอ่อนต่าง ๆ โดยดอกจำปาลาวนั้นเป็นตัวแทนของความสุขและความจริงใจ จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นพวงมาลัยเพื่อรับแขกอีกด้วย


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 5. ประเทศมาเลเซีย (Malaysia) : ดอกพู่ระหง

          สำหรับประเทศมาเลเซียนั้น มีดอกไม้ประจำชาติเป็น ดอกพู่ระหง (Bunga Raya) ในภาษาท้องถิ่นเรียกกันว่า บุหงารายอ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ดอกชบาสีแดง ลักษณะกลีบดอกเป็นสีแดง มีเกสรยื่นยาวออกมาเหนือดอก ซึ่งถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาเลเซีย เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและความอดทนในชาติ โดยเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้สูงส่งและสง่างาม รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์และความงามได้อีกด้วย


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 6. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines) : ดอกพุดแก้ว

          ดอกไม้ประจำชาติฟิลิปปินส์ คือ ดอกพุดแก้ว (Sampaguita Jasmine) ดอกมีสีขาวกลีบดอกเป็นรูปดาว มีกลิ่นหอม บานส่งกลิ่นในตอนกลางคืน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน รวมถึงความเข้มแข็งอีกด้วย เคยถูกนำมาใช้เฉลิมฉลองในตำนานเรื่องเล่ารวมทั้งบทเพลงของฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 7. สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) : ดอกกล้วยไม้แวนด้า

          ประเทศสิงคโปร์ มี ดอกกล้วยไม้แวนด้า (Vanda Miss Joaquim) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยดอกกล้วยไม้แวนด้าตั้งชื่อตามผู้ผสมพันธุ์ คือ Miss Agnes Joaquim จัดเป็นดอกกล้วยไม้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศสิงคโปร์ มีสีม่วงสดสวยงามและเบ่งบานอยู่ตลอดทั้งปี โดยถูกจัดให้เป็นดอกไม้ประจำชาติสิงคโปร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 8. ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) : ดอกราชพฤกษ์

          ดอกไม้ประจำชาติไทยของเรา ก็คือ ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) ที่มีสีเหลืองสวยสง่างาม เมื่อเบ่งบานแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ซึ่งชาวไทยหลายคนรู้จักกันดีในนามของ ดอกคูน โดยมีความเชื่อว่าสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์คือสีแห่งพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์ รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติอีกด้วย โดยดอกราชพฤกษ์จะเบ่งบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม มีจุดเด่นเวลาเบ่งบานคือการผลัดใบออกจนหมดต้น เหลือไว้เพียงแค่สีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์เท่านั้น


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 9. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam) : ดอกบัว

          ประเทศเวียดนาม มีดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง ดอกบัว (Lotus) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยดอกบัวเป็นที่รู้จักกันในนาม “ดอกไม้แห่งรุ่งอรุณ” เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดี ดอกบัวจึงมักถูกกล่าวถึงในบทกลอนและเพลงพื้นเมืองของชาวเวียดนามอยู่บ่อยครั้ง


10 ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน มีอะไรบ้าง...มาดูกัน

 10. สหภาพพม่า (Union of Myanmar) : ดอกประดู่

          ดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่า คือ ดอกประดู่ (Paduak) เป็นดอกไม้ที่พบมากในประเทศพม่า มีสีเหลืองทอง ผลิดอกและส่งกลิ่นหอมในฤดูฝนแรก ช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศพม่ามีการเฉลิมฉลองปีใหม่ขึ้น ชาวพม่าเชื่อว่าดอกประดู่คือสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความทนทาน และเป็นดอกไม้ที่ขาดไม่ได้ในพิธีทางศาสนาของชาวพม่าเลยล่ะ